‘กรมรางฯ’ พร้อมเชื่อมต่อไฮสปีด 3 ประเทศ ‘ไทย-ลาว-จีน’ เส้นทาง ‘หนองคาย-เวียงจันทน์’ เล็งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ เชื่อมการเดินทาง-ท่องเที่ยว
“กรมรางฯ” เตรียมพร้อมเชื่อมต่อไฮสปีด “ไทย–สปป.ลาว–จีน” เส้นทาง “หนองคาย–เวียงจันทน์” รองรับการขนส่งระหว่างประเทศ แบ่งการดำเนินงาน 2 เฟส เล็งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ พร้อมผุดศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า อำนวยความสะดวก One Stop Service หนุนการค้า–บริการ–ท่องเที่ยว
นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการเชื่อมต่อและการขนส่งข้ามแดนทางรถไฟช่วงหนองคาย–เวียงจันทน์ ครั้งที่ 1/2564 ว่า กรมการขนส่งทางราง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมได้ประชุมหารือ เพื่อจัดทำข้อเสนอในการเชื่อมต่อและการขนส่งข้ามแดนทางรถไฟช่วงหนองคาย–เวียงจันทน์ และนำไปสู่การพิจารณากำหนดท่าทีฝ่ายไทยในการเชื่อมต่อและการขนส่งข้ามแดนทางรถไฟช่วงหนองคาย–เวียงจันทน์ สำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย–จีนต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาการเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งสินค้าข้ามแดน ผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย–เวียงจันทน์ พร้อมมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณาจัดขบวนรถรองรับการเดินทางช่วงหนองคาย–เวียงจันทน์ และรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่สถานีท่านาแล้งของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นำไปสู่การเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างประเทศต่อไป
นอกจากนี้ ได้มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางของประเทศไทย โดยในส่วนของแนวเส้นทางนั้น โครงการรถไฟจีน–สปป.ลาว เตรียมเปิดดำเนินการในวันชาติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในวันที่ 2 ธ.ค. 2564 โดยเส้นทางรถไฟ สปป.ลาว–จีน มีระยะทางประมาณ 420 กิโลเมตร (กม.) มีสถานีทั้งหมด 31 สถานี เริ่มต้นที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน เชื่อมต่อที่เมืองบ่อเต็น สปป. ลาว และมีปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทน์ซึ่งอยู่ใกล้กับจังหวัดหนองคาย
ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วง กรุงเทพฯ–นครราชสีมา มีระยะทาง253 กม. กำหนดเปิดให้บริการ ปี 2569 สำหรับระยะที่ 2 นครราชสีมา–หนองคาย มีระยะทาง 356 กม. ปัจจุบันได้ออกแบบรายละเอียด มีกำหนดเปิดให้บริการ ปี 2571 โดยเตรียมหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย เพื่อเตรียมการเดินรถเชื่อมต่อไทย–สปป.ลาว–จีนต่อไป
นายกิตติพันธ์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนการเตรียมความพร้อมของฝ่ายไทยในการเชื่อมโยงทางรถไฟไทย–สปป.ลาว–จีนนั้นประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมในการเปิดเส้นทางรถไฟจีน–สปป.ลาว ไว้ 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 คือการพัฒนาสถานีหนองคายให้รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม โดยพัฒนาบริเวณสถานีที่มีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ราง โดยให้เอกชนเช่าบริหารจัดการพื้นที่ 4 แปลง อีก 1 แปลงเป็นพื้นที่ส่วนกลาง
ระยะที่ 2 คือ การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากสะพานเดิมประมาณ 30 เมตร โดยเป็นสะพานรถไฟที่มีทั้งทางขนาด 1 เมตร และ 1.435 เมตร โครงสร้างสะพานจะเป็นรูปแบบสะพานคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องก่อสร้างโดยวิธีคานยื่นสมดุล และการจัดเตรียมพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวก
สำหรับศูนย์ย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) สามารถรองรับการแลกเปลี่ยนสินค้าจากรถไฟที่เข้ามาจากจีน และ สปป.ลาว รวมถึงการส่งออกไปยัง สปป.ลาว และจีน โดย ตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านหลังของลานขนถ่ายสินค้าสำหรับกองเก็บตู้สินค้าประเภทต่างๆ รวมถึงอาคารสำนักงาน, คลังสินค้า และอาคารประกอบอื่นๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวกับการนำเข้า–ส่งออก รวมถึงศูนย์เอ๊กซเรย์ตู้สินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการแบบเบ็ดเสร็จ(One-Stop Service)
นายกิตติพันธ์ กล่าวต่ออีกว่า ประโยชน์ของเส้นทางรถไฟเชื่อมจีน–สปป.ลาวมายังชายแดนหนองคายนั้น ในด้านการค้าไทยจะสามารถส่งออกสินค้าไป สปป.ลาว และจีนได้เพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าอุปโภค บริโภค และโดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางการเกษตรไปยังประเทศจีนนั้น ใช้เวลานาน โดยเฉพาะผลไม้ไทยเป็นผลไม้เมืองร้อน มีอายุการเก็บรักษาสั้น การขนส่งที่ใช้เวลานานจะทำให้เกิดการเน่าเสียของสินค้า ดังนั้นการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟ สปป.ลาว–จีน จึงเป็นผลดีต่อสินค้าเกษตร ให้สามารถกระจายไปยังมณฑลต่างๆ ของจีนได้อย่างทั่วถึงในระยะอันสั้น
ในด้านการบริการและการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวจีน และ สปป.ลาวจะมาเที่ยวไทยได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการ อาทิกลุ่มบริการสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล นวดแผนไทย เนื่องจากความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานสาธารณสุขของไทย รวมถึง กลุ่มร้านอาหาร และโรงแรม เนื่องจากราคาสินค้าและบริการถูก รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มของไทยเป็นที่นิยมของทั้งชาวจีนและลาว ที่จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยในการค้าขายผ่านแนวเส้นทางดังกล่าว